เตรียมรถสู้ร้อน รู้ วิธีดูแลรถหน้าร้อน ก่อนรถจะพังไม่ทันตั้งตัว

0
1271

เตรียมรถสู้ร้อน รู้วิธีดูแลรถหน้าร้อนก่อนรถจะพังไม่ทันตั้งตัว

ช่วงนี้กำลังจะเข้าสู่หน้าร้อนแล้ว หลายคนคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องจอดรถท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนระอุ ด้วยสาเหตุที่จอดรถในบ้านไม่พอ ไม่มีพื้นที่สำหรับจอดรถในร่ม ออกไปเที่ยวข้างนอกในสถานที่ที่จอดรถไม่มีหลังคา และเหตุผลอื่นๆ อีกมากมาย ที่ต้องนำรถสุดที่รักไปตากแดดเมืองไทยที่ใครๆ ก็รู้กิตติศัพท์เป็นอย่างดีว่าร้อนแค่ไหน

เห็นอย่างนี้พี่กู๊ดเลยอยู่เฉยไม่ได้ต้องออกมาบอกผลของความร้อนที่มีต่อรถ รวมถึงมาบอกเคล็ดลับให้รถสุดที่รักก้าวผ่านหน้าร้อนครั้งนี้ไปด้วยกันอย่างเข้มแข็ง ว่าแล้วก็ไปดูกันเลยดีกว่าครับ

ผลเสียของหน้าร้อนที่มีต่อรถของเรา

พี่กู๊ดบอกเลยว่าไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่งนะครับ เพราะถึงแม้ว่าความร้อนจะไม่ได้ทำให้รถของเราเสียโดยฉับพลัน แต่ในระยะยาวหากเราไม่ใส่ใจเรื่องนี้มากพอก็อาจส่งผลเสียต่อส่วนต่างๆ ของตัวรถได้ดังนี้

  1. อุปกรณ์ภายในและภายนอกรถเสื่อมสภาพ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ทำจากยางหรือพลาสติกอาจกรอบ หรือแตก
  2. เครื่องยนต์อาจทำงานหนัก เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลต่อระบบการระบายความร้อน เช่นหม้อน้ำ
  3. ฟิล์มรถยนต์เสื่อมสภาพ อย่างที่รู้กันดีว่าฟิล์มรถนั้นเหมือนเป็นปราการด่านแรกๆ ที่จะปะทะกับแสงแดด ดังนั้นหากเจออากาศร้อนจัด ก็มีความเป็นไปได้ที่ฟิล์มจะเกิดการกรอบหรือหลุดล่อนได้
  4. ระบบแอร์ภายในรถยนต์ทำงานหนัก เนื่องจากอากาศที่ร้อน ทำให้แอร์ต้องทำงานสู้กับความร้อนภายนอก
  5. ยางรถยนต์เกิดการตึงกว่าปกติ ส่งผลต่อแรงเสียดทาน หากใช้ยางเก่าควรระวังการระเบิด

วิธีดูแลรักษารถยนต์

ที่นี้เมื่อเห็นข้อเสียแล้ว จะมีวิธีไหนที่จะช่วยดูแลยามรถของเราเผชิญหน้ากับความร้อนได้บ้าง พี่กู๊ดมีเคล็ดลับดีๆ มาแนะนำ ดังนี้ครับ

  1. เมื่อจอดรถตากแดดนานๆ  หลังจากสตาร์ทเครื่องแล้วไม่ควรออกรถทันที ควรจอดรถนิ่งๆ ก่อนสักพักหนึ่งเพื่อให้เครื่องยนต์คลายความร้อน
  2. หากอุณหภูมิในรถสูง ให้เปิดประตูรถออกและปิดเปิดเบาๆ สลับกันเพื่อไล่ความร้อนภายในรถ
  3. ไม่ควรบรรทุกของและคนหนักจนเกินไปเพราะจะทำให้เครื่องยนต์ทำงานหนักเกิน
  4. ลีกเลี่ยงการคลุมรถด้วยผ้าคลุมที่แนบสนิทกับตัวรถหรือใช้ผ้าคลุมที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะหากอากาศร้อนมากอาจทำให้สีผ้าคลุมหลุดติดตัวรถ หรือหากมีลมแรงอาจทำให้ผ้าคลุมขูดตัวรถจนเกิดเป็นรอยขนแมว
  5. ควรเปิดพัดลมธรรมดาเพื่อไล่ความร้อนออกก่อน แล้วค่อยเปิด A/C System (ปุ่มระบบทำความเย็น) ปรับความเย็นทีหลัง
  6. เช็คยางรถว่าไม่ตึง กรอบหรือแตก และตรวจหม้อน้ำไม่ให้แห้งก่อนออกเดินทาง
  7. ไม่เก็บอุปกรณ์หรือของที่เสี่ยงต่อการระเบิดไว้ในรถ เช่น โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่สำรอง หรือผลิตภัณฑ์ที่บรรจุแก๊สต่างๆ

ขอบคุณบทความดีๆจาก:https://www.directasia.co.th/
ภาพประกอบ:https://www.tqm.co.th/

ไม่มีความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้